เป็นกรดไหลย้อนระหว่างช่วงตั้งครรภ์

Last updated: 19 มิ.ย. 2561  |  19922 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เป็นกรดไหลย้อนระหว่างช่วงตั้งครรภ์

เป็นกรดไหลย้อนระหว่างช่วงตั้งครรภ์

  ในช่วงที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง  อาจมีอาการแสบบริเวณลิ้นปี่จากการอาเจียน เพราะน้ำย่อยที่อาเจียนออกมาจะทำให้แสบร้อนบริเวณหลอดอาหารได้ และอาจมีความรู้สึกขมที่ลิ้น รู้สึกเจ็บปวดในอก และอาจกระจายถึงคอ เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอ รวมถึงอาการไอเรื้อรังได้ค่ะ

  นอกจากอาการแพ้ท้องแล้ว อาการปวดแสบลิ้นปี่ของคนท้องส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ซึ่งกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารก็ได้รับผลกระทบไปด้วย คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายและบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากช่องท้องโตขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกน้อยในครรภ์ส่งผลให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้เกิดการไหลย้อนของกรด น้ำย่อย และน้ำดี ได้ อาการแสบร้อนกลางอกมักเป็นในช่วงหลังอาหาร หรืออาจจะเกิดช่วงกลางคืน ยิ่งถ้าหากงอตัวอาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น อาการกรดไหลย้อนจะเป็นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6-12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และจะเป็นอีกครั้งในช่วงใกล้คลอด

   โดยคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองในช่วงตั้งครรภ์ได้เบื้องต้นดังนี้ค่ะ เพื่อเป็นการบรรเทาอาการกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้น

1. ทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง และทานอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ ทานอาหารอ่อนย่อยง่ายและเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกคำก่อนกลืน

2. อย่ารับประทานอาหารมากเกินไปต่อมื้อ หรือรับประทานอาหารมื้อดึก และไม่ควรทานอาหารเสร็จแล้วนอนเลย ควรรับประทานอาหารแล้วเผื่อเวลาให้อาหารได้ย่อยก่อนอย่างต่ำ 4 ชั่วโมง

3. งดอาหารรสเผ็ด อาหารรสเปรี้ยวจัด ของทอด ของดอง และน้ำอัดลม ลดอาหารที่มีไขมันสูงซึ่งย่อยยาก แต่ให้ทานอาหารที่มีไขมันเล็กน้อยได้ เพราะไขมันจะช่วยยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร และยังช่วยนำพาวิตามินที่ละลายได้เฉพาะในไขมันด้วย

4. หากมีการอาเจียน ควรดื่มน้ำกลั้วคอล้างปากทุกครั้งหลังอาเจียน

5. การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาแก้โรคหอบหืดบางชนิด และยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจบางชนิด อาจทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย

  ช่วงไตรมาสที่สอง ระหว่างการตั้งครรภ์ 3-6 เดือน เป็นช่วงที่คนท้องมีความเสี่ยงในการเกิดอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น  คุณแม่ต้องการอาหารโปรตีนสูงกว่าในช่วงไตรมาสแรก (1-3 เดือน) อาหารที่ควรรับประทาน คือ เมนูไขมันต่ำ  โปรตีนสูงจากไก่และปลา และควรกินผักที่ให้ไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันท้องผูกด้วยนะค่ะ ส่วนในช่วงตั้งครรภ์ 7-9 เดือน ควรรับประทานจำพวกเนื้อไก่, ไข่ไก่ เพิ่มขึ้นด้วย

 กรดไหลย้อนมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่

 อาการของโรคกรดไหลย้อนจะทำให้เกิดความไม่สบายตัวต่าง ๆ ตามอาการที่บอกข้างต้น แต่หากคุณแม่สามารถจะรับประทานอาหารได้ตามปกติ ก็จะไม่เกิดปัญหาใด ๆ ต่อตัวคุณแม่เอง และทารกในครรภ์ แต่ถ้าหากในระยะยาวคุณแม่ยังเป็นโรคนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง  ก็อาจเกิดการอักเสบของหลอดอาหารเรื้อรังที่รุนแรงมากขึ้น และเป็นผลทำให้ทานอาหารได้น้อยลง จนเกิดผลกระทบกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอค่ะ

 ทานยาป้องกันกรดไหลย้อนอันตรายหรือไม

 โดย นพ.ธวัช มงคลพร อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ  กล่าวถึงการรักษาโดยใช้ยาว่า “ทานยาน้ำเพื่อป้องกันกรดไหลย้อน  ที่ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และรวมตัวกันเป็นชั้นเจลอัลจินิก แอซิด (Alginic Acid) ซึ่งมีค่า PH ใกล้เคียงธรรมชาติ ลอยตัวเป็นแพอยู่ชั้นบนของของเหลวในกระเพาะอาหารป้องกันกรดไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหารได้ ข้อดีของยา กลุ่มนี้คือยานี้ไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจึงทำให้ทั้งคุณแม่ปลอดภัยและไม่มีอันตรายต่อการเติบโตของคุณลูกในท้อง”



Credit: แผ่นพับ  “โรคกรดไหลย้อน ลงกล่องเสียง”  ภาควิชาโสต  ศอ  นาสิกวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบารามาธิบดี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Tel: 084-6368708, 062-4567878
Line: @Thaiherb2017
Facebook page: https://www.facebook.com/thaiherb2017

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้